พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
(๒๔๗๗ – ปัจจุบัน)
วัดอรัญวิเวก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
     
 
นามเดิม
 
เปลี่ยน วงศาจันทร์
 
เกิด
 
วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ปีระกา
 
 
บ้านเกิด
 
ณ บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างดินแดน จ.สกลนคร
 
 
พี่น้อง
 
รวม ๖ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓
 
บิดามารดา
 
นายจิ่น และนางอรดี วงศาจันทร์ อาชีพทำนาค้าขาย
 
อุปสมบท
 
อายุ๒๕ ปี วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ณ วัดธาตุมีชัย บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
 
 
โดยมีพระครูอดุลย์สังขกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิพิธธรรมสุนทร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระอาจารย์สุภาพ ธมมฺปญฺโญ เป็นผู้ฝึกหัดขานนาคให้
 
เรื่องราวในชีวิต
 
นับเนื่องมาตั้งแต่เป็นเด็กอายุเพียง ๑๒ ปี ท่านก็ได้รับคำสอนพระกรรมฐานจากพระคณาจารย์ชื่อโด่งดังแห่งบ้านดงเย็น คือ ท่านหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ
 
 
ศิษย์พระกรรมฐานองค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ภายหลังจากอุปสมบทแล้วท่านก็ได้รับอุบายธรรมต่าง ๆ จากหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ เป็นอันมาก ต่อมา ท่านได้ออกเดินธุดงค์บุกเดี่ยวขบเขี้ยวกับบรรดา กิเลส ตัณหา อุปาทานต่าง ๆ ที่เข้ามารุกเร้าจิตใจในขณะนั้น พร้อมกับออกติดตามครูบาอาจารย์ผู้เคร่งครัดรอบรู้ในธรรมในถิ่นฐานต่าง ๆ อย่างไม่ละลด
ท่านแบกกลดสะพายบาตร เที่ยวไปตามป่าเขาลำเนาไพร ตามหาท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ที่ดงหม้อทอง และที่ดงสีชมภู ก็ต้องผจญกับสัตว์ป่า เช่น ช้าง…และเสือ ที่อยู่เกาะกลุ่มกันเป็นฝูง ๆ แต่ท่านได้ตั้งใจแน่วแน่แล้วว่า “แม้ไม่เห็นธรรม ไม่รู้จักพระพุทธศาสนาแล้ว ขอเอาหัวชนฝาภาวนาให้ตาย เอาชีวิตเข้าสู้” ท่านเป็นพระกรรมฐานหนุ่มที่มีธรรมคำสอน และอุบายธรรมอันแหลมคม สามารถน้อมจิตใจของผู้ฟังและผู้ปฏิบัติ เข้าใจในอรรถธรรมนั้น ๆ ได้อย่างแจ่มแจ้ง วิถีจิตอันมี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องดำเนินชีวิตในเพศสมณะ ท่านพระอาจารย์เปลี่ยน ไม่มีความอิ่มพอที่จะศึกษาต่อไป
ท่านเคยเดินทางไปนมัสการครูบาอาจารย์ฝ่ายอาวุโสยังสำนักต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อขอศึกษาอุบายธรรมะจากพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่สิม หลวงปู่ฝั้น (สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่) ครูบาอาจารย์ทั้งหลายนี้ ย่อมเป็นเครื่องยืนยันภูมิธรรมแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านได้ดีความเลื่อมใสศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาของท่านนั้นเคยเล่าให้ฟังว่า “อาตมามีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยตั้งแต่สมัยเป็นเด็กไม่ทราบว่าอะไรมาดลใจในเรื่องเช่นนี้ ตอนที่จะบวช ก็มีอุปสรรคมากมาย เพราะโยมมารดาท่านไม่ยอม ท่านมีความประสงค์ที่จะให้ค้าขาย ครอบครองสมบัติใช้ชีวิตในทางโลก ส่วนอาตมาไม่เอา คิดจะบวชเสียอย่างเดียว เลยเป็นเหตุให้สนใจในทางธรรมอย่างลึกซึ้งขึ้น มันน่าประหลาดใจอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ว่าสิ่งใดที่เราถูกกีดขวางแล้ว เหมือนกับจะยุให้เราเกิดสงสัยอยากรู้ในสิ่งที่กีดขวางนั้นให้ได้ ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ถ้าแม้มีอุปสรรค มีกิเลสทั้งปวงมารุมเร้าจิตใจ อาตมาก็คิดจะเอาชนะเสียให้ได้ ถ้าไม่ได้ในธรรมที่เราปฏิบัติ ก็ขอตายเสียเลย มิเช่นนั้นเสียชื่อผู้ปฏิบัติหมด นี่โยมก็เช่นกัน ต้องเอาจริง ๆ ในเรื่องนี้ ถ้าเอาจริงก็ได้จริง เมื่อได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมากันให้เหนื่อย ใจมันรู้แล้วนี่ ปัญญาเกิดแล้ว สติแก่กล้าแล้ว ธรรมทั้งหลายมันก็อยู่ที่ใจนั่นเองไม่ไปไหนเลย” ท่านได้เดินธุดงค์ไปตามป่าดง เพื่อมุ่งอรรถมุ่งธรรมเจริญตามรอยพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ธรรมปีติเกิดขึ้นในครั้งแรกนั้น ย่อมเป็นสักขีพยานแห่งการปฏิบัติของท่าน และได้ถือเป็นเครื่องดำเนินมาจนกระทั่งทุกวันนี้
หลักธรรมเทศนา ท่านมีความละเอียดในการบรรยายธรรมเป็นที่เข้าจิตเข้าใจของผู้ฟังเป็นอย่างยิ่งตลอดจนถึงกายวาจาใจของท่านเป็นส่วนหนึ่งที่ได้สร้างศรัทธาแก่คณะญาติโยมผู้มาพบเห็น ปัจจุบัน ท่านได้มาอยู่จำพรรษาพร้อมกับหมู่คณะที่บ้านปง หรือวัดอรัญวิเวก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติสมาธิธรรม มีพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน มีธรรมะเป็นข้อปฏิบัติ มีวัตรวินัยเป็นเครื่องดำเนินใน ศีล สมาธิ ปัญญา คือความพ้นทุกข์ บ้านปงในอดีต เคยเป็นสถานที่ ๆ ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และพระคณาจารย์ศิษย์ในสายกรรมฐานอีกหลาย ๆ องค์ ก็เคยมาอยู่พักบำเพ็ญสมณธรรม ที่เต็มไปด้วยป่าไม้นานาพันธุ์ ตลอดจนถึงสัตว์ป่านานาชนิด ซึ่งก็เป็นนิมิตหมายมงคลแก่ บ้านปง แห่งนี้มีความสงบร่มเย็นในกาลต่อมา
ปัจจุบันนี้ บ้านปงได้เจริญพัฒนาไปมากแล้ว แต่สภาพป่าดงก็หาได้เสื่อมสลายไปไม่ ยังทิ้งร่องรอยความเป็นสัปปายะไว้อย่างมั่นคงถาวรต่อไปเช่นกัน แม้จะอยู่ในสภาพเช่นไรก็ตาม สภาพที่แห่งนี้ก็เป็นที่รู้จักมักคุ้นของบรรดาชาวพุทธโดยทั่วไปว่า “เป็นสำนักปฏิบัติอันเป็นสัปปายะยิ่งเหมาะแก่การอยู่พักปฏิบัติธรรม เพราะมีความสงบ ใกล้ครูบาอาจารย์ผู้สอนแนะ ร่มรื่นห่างไกลความพลุกพล่าน กำหนดจิตสู่สมาธิธรรมได้ง่าย”
 
ธรรมโอวาท
 
“...เรากล้าหาญ เอาจริงอย่างนี้ไม่ต้องกลัวตาย แม้ร่างกายจะแตกหักทำลายขาดออกจากกันหมด ก็ให้มันเป็น ลองดูมันจะเป็นไหม ถ้าเรามีความตั้งใจ ทำจริงอย่างนี้ได้
 

จิตใจของเราจึงจะปล่อยวางเวทนาความเจ็บปวดนั้นได้ เราต้องทำจริงอย่างนี้ เอาจริงอย่างนี้ จิตใจของตนจึงจะสงบเป็นสมาธิได้...”


“...เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ การที่ขัดเกลากิเลสของพวกเรามาแต่ชาติอดีตที่ผ่านมานั้น ใครจะขัดเกลาได้มากน้อยเท่าไร บุคคลใดขัดเกลาได้มาก เมื่อมาเกิดในชาตินี้กิเลสก็เบาบางจากจิตใจ บุคคลใดขัดเกลากิเลสได้น้อย กิเลสก็ยังมืดมน บุคคลใดไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย จึงมืดมนไม่รู้จักบุญบาป ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จิตของบุคคลเป็นคนใจดำอำมหิตทั้งหลายอยู่ในปัจจุบันนี้ มันจึงมีหลายระดับหลายขั้นหลายตอน…”


“...พวกเราคิดดูซิ ถ้าพวกเราขาดสติอยู่ สติยังอ่อนอยู่นั้น แม้พวกเราเห็นวัตถุต่างๆ จิตก็ย่อมรั่วไหลไปตามวัตถุนั้นได้ทันที เพราะขาดสตินั่นเอง เราไม่มีสติพอจะรู้ว่ารูป ร่างกาย ของพวกเราก็เหมือนกัน รูปร่างกายของพวกเราทำอะไร เมื่อทำลงไปมันผิดพลาดลงไปแล้ว มันผิดพลาดเพราะอะไร เพราะเราขาดสติ เราระลึกไม่ทันก็ต้องทำไปก่อน สัมปชัญญะก็รู้ไม่ทันเขาจึงทำผิดพลาดกัน…”


“..สุขเกิดด้วยการไม่เป็นหนี้ใคร การไม่เป็นหนี้สินใครจะทำให้อยู่เป็นสุขสบาย แต่เราต้องรู้จักจับจ่ายเงินทองได้พอดีกับฐานะของตน จึงไม่เป็นหนี้ใคร เมื่อเห็นคนเดินเข้ามาหาเรา เราก็ไม่หวั่นไหวอะไร ว่าเขาจะมาทวงถามหนี้จากเรา เมื่อเราไม่เป็นหนี้ใคร เราก็อยู่อย่างมีความสุข...”
.

     
     
     
   
   
หน้าหลัก | หน้าก่อน | หน้าต่อไป   
     
     
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐